หากใครเคยมีอาการปวดเสียวแปล๊บๆ บริเวณส้นเท้าขณะที่เริ่มเดินหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า นั่นคืออาการของโรครองช้ำตามภาษาชาวบ้านหรือโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบนั่นเอง วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับอาการของโรครองช้ำและวิธีการรักษากันค่ะ
โรครองช้ำหรือ plantar fasciitis คืออะไร ???
โรครองช้ำคืออาการอักเสบที่เกิดขึ้นกับพังผืดใต้ฝ่าเท้าโดยผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดบริเวณส้นเท้าด้านในหรือตามแนวแถบของพังผืดในตอนเช้า อาการปวดจะมีลักษณะแปล๊บๆ เหมือนมีอะไรมาแทงบริเวณส้นเท้า ทำให้เวลาที่วางส้นเท้าลงกับพื้นอาจมีอาการสะดุ้ง อาการปวดจะค่อยๆ เบาลงเมื่อเดินไปได้ 2-3 ก้าว และสามารถกลับมาปวดมากเหมือนเดิมได้ใหม่ หากยืนเป็นระยะเวลานานหรือลุกขึ้นจากการนั่งพักนานๆ และถ้าผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนท่าเดินเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดบริเวณส้นเท้า อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณส่วนอื่นของร่างกายร่วมด้วยได้ เช่น เข่า สะโพก และหลัง
"สาเหตุของการเกิดโรครองช้ำ"
เนื่องจากหน้าที่หลักของพังผืดใต้ฝ่าเท้าคือการรองรับแรงกระแทกต่อฝ่าเท้า และรองรับอุ้งเท้า โดยขณะที่เรายืนหรือเดิน น้ำหนักตัวจะตกลงบนฝ่าเท้า ทำให้อุ้งเท้าแบนราบกับพื้นมากขึ้น แรงที่ตกลงมายังฝ่าเท้าจะกระจายไปยังบริเวณหน้าเท้าและส้นเท้า ส่งผลให้พังผืดมีความตึงตัวมากขึ้น แต่หากแรงตึงตัวที่เกิดขึ้นมีมากเกินกว่าที่พังผืดจะรับได้ จะทำให้พังผืดได้รับความเสียหาย ซึ่งอาการของโรคไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยการบาดเจ็บจะค่อยๆ สะสมทีละเล็กทีละน้อย จนเกิดการอักเสบหรือในกรณีร้ายแรงอาจเกิดการฉีกขาดในที่สุด
"ปัจจัยที่ส่งผลให้มีแรงกระทำต่อพังผืดมากขึ้น"
- น้ำหนักตัวที่เยอะเกินไป
- การออกกำลังกายบางชนิด เช่น การวิ่ง การเต้นแอโรบิค
- การยืนหรือเดินนานเกินไป
- ลักษณะการใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม
- โครงสร้างเท้า เช่น เท้าแบน อุ้งเท้าสูง ทำให้รูปแบบการเดินผิดปกติ
- ภาวะกระดูกงอกบริเวณกระดูกส้นเท้า
- ภาวะเอ็นร้อยหวายตึงตัว
- ไขมันบริเวณส้นเท้าฝ่อลีบเนื่องจากความเสื่อมตามอายุ
"การรักษา"
1. การยืดกล้ามเนื้อ
กล้ามเนื้อน่อง โดยต้องยืดอย่างช้าๆ ด้วยแรงที่คงที่ ทำ 3 ช่วงเวลา/วัน 5 ครั้ง/ช่วงเวลา และ 15-20 วินาที/ครั้ง
2. ท่ายืดพังผืดใต้ฝ่าเท้า
ก่อนจะเริ่มลุกขึ้นเดิน ให้ใช้มือข้างหนึ่งจับบริเวณนิ้วเท้าทั้งห้าและทำการดันนิ้วเท้าเข้าหาหลังเท้าให้มากที่สุด จนฝ่าเท้าอยู่ในลักษณะแอ่นและตึง จากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือหรือกำปั้นของมืออีกข้างกดและนวดบริเวณฝ่าเท้าจนทั่ว โดยนวดประมาณ15-20 วินาที/ครั้ง 3-5 ครั้งก่อนลุกขึ้นเดิน นอกจากนี้ยังสามารถใช้เท้าคลึงลูกบอลหรือขวดน้ำได้อีกด้วย ทำประมาณ 3-5 นาที 2 ครั้ง/วัน
3. การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเท้า
การหยิบผ้าขนหนูด้วยนิ้วเท้า วางผ้าขนหนูผืนเล็กลงบนพื้น จากนั้นใช้นิ้วเท้าขยุ้มผ้าขนหนู ทำซ้ำ 10 ครั้ง 1-2 ครั้ง/วัน